ยอมก้มหัวคือผู้มีชัยชนะ

           เพื่อนดิฉันซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เราเรียนมาในห้องเดียวกัน สนิทกันโดยบังเอิญ เพราะไม่มีใครอยากสนิทกับเขาสักคน ? อาจด้วยประโยคที่เขามักกล่าวเสมอว่า “I’m not bow down to anyone ” (ฉันไม่เคยยอมก้มหัวให้ใครหรอก) เพราะด้วยฐานะทางการเงิน กระเป๋าถือ รองเท้าหนังอย่างดีมาก แต่นั่น คงไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือการถูกปลูกฝังเลี้ยงดูที่ไม่ต่างอะไรกับไข่ในหิน ต่างหาก

ยอมก้มหัวคือผู้มีชัยชนะ


          ช่วงหนึ่งเราต้อง ฝึกงาน (Internship) ในรัฐหนึ่งของอเมริกา เขาไม่ผ่านการฝึกงาน ทำให้ย้ายที่ฝึกงานถึง 5 แห่ง เขาเริ่มรู้สึกถึงการถูกมองอย่างไม่เป็นมิตรจากคนรอบข้าง ถูกกดดันจากครอบครัว
          ครั้งนั้น จึงได้นำเอาเรื่องราว สุยหยางตี้ ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์สุย ไปเล่าให้เขาฟัง ชีวิตเขาจึงเปลี่ยนไป !!
          พูดเรื่องศักดิ์ศรี ไม่ยอมเกรงกลัว อ่อนข้อให้ใคร คนไทยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ในทางกลับกันกับบางเรื่องการก้มหัวให้กับผู้อื่นเพื่อรอจังหวะนั้น คือหนทางแห่งชัยชนะในเบื้องหน้า อีกทั้งยังเป็นหนทางรอดชีวิตเพื่อเดินสู่บันไดความสำเร็จ ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วนับไม่ถ้วน
ประวัติศาสตร์จีนตอนหนึ่ง กล่าวเรื่องสุยหยางตี้ ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์สุยที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดเหี้ยม ไม่เว้นความกรุณาปราณีแก่ผู้ขัดขวาง ทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้าน รวมถึงขุนนางในราชสำนักจำนวนมากกลับลุกฮือประท้วงต่อต้าน
          ทำให้ สุยหยางตี้ เกิดความหวาดระแวงขุนนางในราชสำนัก จำนวนมาก หากล่วงรู้ว่าใครคิดขัดขวางผู้นั้นย่อมถึงแก่ชีวิต มิได้รับการยกเว้น
          เมื่อ ถังกว๋อกง หลี่ยวน ผู้ภักดิ์ดีต่อความถูกต้อง ฉุดคิดขึ้นมาได้ว่า ตนเองเป็นขุนนางในราชสำนัก รวมทั้งมีหน้าที่ปกครองคนในท้องถิ่น ควรที่จะปกป้องประชาชนออกจากเงื้อมมือผู้นำที่เลวร้าย ไม่ควรแข็งข้อต่อผู้มีอำนาจอย่างสุยหยางตี้ จึงคิดวิธีการต่อต้านอย่างแยบยล
          ต่อมา สุยหยางตี้ เรียกหลี่ยวนเข้าพบเพื่อกระทำการบางอย่าง ด้วยเกรงว่า หลี่ยวน จะเป็นกบฏต่อตนเองและราชสำนัก แต่หลี่ยวนกลับป่วยเข้าพบไม่ได้ ทำให้ สุยหยางตี้ โกรธเป็นฟืนเป็นไฟมาก
          หลังจากครั้งนั้น สุยหยางตี้กลับได้ยินข่าวลือมาอย่างหนาหูว่า หลี่ยวน เป็นขุนนางที่ชอบเรียกรับสินบน อวดบารมี ทำให้สุยหยางตี้ไม่คิดหวาดระแวงอีกต่อไป แต่แท้จริงนั้นหลี่ยวนกลับคิดแผนอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อรอคอยเวลาที่เหมาะสม โค่นอำนาจฮ่องเต้ เขาซุ่มกำลังไพร่พลไว้มาก อีกทั้งยังผูกมิตรไมตรีกับนักปราชญ์ นักรบผู้เก่งกล้าหลายแคว้น
          เมื่อถึงโอกาสอันควร หลี่ยวนจึงรวบรวมไพร่พลเข้าตีเมืองไท่หยวนได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้รับสถาปนาเป็นฮ่องเต้คนแรกแห่งราชวงศ์ถัง นามว่า “ถังไท่จู”
          จะเห็นได้ว่า การยอมก้มหัวให้คนอื่นนั้น มิได้แปลว่าอ่อนแอหรือแพ้พ่ายตลอดไป คือการรวบรวมเวลา ตั้งสติคิดวิเคราะห์ให้ถี่ถ้วน เพื่อรอคอยจังหวะการเผชิญหน้าสู่ชัยชนะในเบื้องหน้า
          แต่ในทางกลับกัน คนส่วนใหญ่ที่ได้รับการก้มหัวจากคนที่อ่อนแอกว่า ย่อมได้รับความวางใจ ความอ่อนใจ โดยเฉพาะการกระทำนี้อาจส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้น เช่น หากเราทำผิดเราขอโทษลูกค้า หรือขอโทษหัวหน้างานเมื่อเรากระทำความผิดลงไป ด้วยใจที่อ่นน้อมยอมรับ การเป็นฝ่ายก้มหัวระลึกผิดย่อมได้รับการผ่อนปรนความตึงเครียดในใจเหตุการณ์ที่รุนแรงค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดีได้ ในบางครั้งกลับได้ความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นอีกเท่าตัว
           ลูกน้องบางคนเมื่อถูกหัวหน้าต่อว่า แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยเกิดความน้อยอกน้อยใจ ตัดสินใจลาออกไป เพราะคิดว่า “คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อให้ใครกดขี่” หรือ “เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นขี้ข้าใคร” …. จริงอยู่ แต่เมื่อมนุษย์ยังต้องการปัจจัยสี่ ในการดำรงชีพ ต้องการสังคม เราจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบองค์กร เพื่อความมั่นคงอยู่รอด มิใช่การเข้ากลุ่มปลูกผักชีโรยหน้า เช้าชามเย็นชาม ย่อมไม่เกิดการพัฒนาทั้งตนเองและองค์กร
          ใช่ว่าทำอะไรหัวหน้าจะถูกเสมอไป ในเรื่องของการทำงาน แน่นอนย่อมมีการกระทบกระทั่งไม่มากก็น้อย สิ่งที่หัวหน้างานต้องตระหนักในขั้นต้น นั่นคือ คุณธรรมการเป็นผู้นำ หลักธรรม พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก่อให้เกิดความรัก ความศรัทธาในทีมงาน ลูกน้องพร้อมสู้ตาย ถวายชีวิต
          ผู้ใต้บังคับบัญชาเสมือนเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เขาเหล่านั้นคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ผู้ปูพื้นฐานความมั่นคงในองค์กร ดังนั้น หัวหน้างานจึงมีหน้าที่สำคัญในการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา”
         ส่วนลูกน้องหรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา โดยหน้าที่คือปฏิบัติตามคำสั่งอันบริสุทธิ์ ถูกต้อง ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้างาน จากองค์กร จึงควรยึดหลักธรรม อิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ทำงานด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน และคำนึงถึงจิตใจหัวหน้างานที่ต้องถือหมวกในมือสองใบ

ยอมก้มหัวคือผู้มีชัยชนะ

          หากถามว่า ? วันหนึ่งลูกน้องพบว่าหัวหน้าทำงานไร้จรรยาบรรณ ต้องก้มหัวด้วยหรือ ? แน่นอนผู้เขียนให้ท่านกลับไปวิเคราะห์หน้าที่งานและนโยบายองค์กร เป็นหลักการคำตอบที่ดีที่สุด แต่จงจำไว้ว่า ไม่ว่าหัวหน้าหรือลูกน้องจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใด ทำงานกับใคร สิ่งแรกที่ต้องตระหนักไว้นั้นคือ การคิดเชิงบวกในงาน มีความนุ่มนวล เพราะความนุ่มนวลเสมือน ดาบอันแหลมคมเล่มหนึ่ง ไม่ทำร้ายใคร แต่ซ่อนไว้ด้วยความคมกริบ
          ในเรื่อง สามก๊ก “ขงเบ้งฉลาดกว่าเล่าปี่ ร้อยเท่า ไฉนจึงยอมรับใช้เล่าปี่ กระทั่งเล่าปี่ตาย ขงเบ้งยอมรับใช้ลูกเล่าปี่ จนกระทั่งตัวตาย” 
 

ขอบคุณภาพ 

stage.online-station.net 

http://www.bloggang.com/mainblog  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดปฐมนิเทศใช้เกมและกิจกรรมอะไรดี

ทักษะ 10 ข้อบริษัทต้องง้อเรา

สมรรถนะ (Competency Model) มีอะไรบ้าง ?