หัวหน้า “แบบไหน” ลูกน้องยี๊!!

 ผู้เขียน : อาจารย์ วีย์รฎา กวิณรวีบริรักษ์ 


คัมภีร์ Tao -Te Ching กล่าวถึงปรัชญาโบราณ เล่าจื๊อ เรื่องความเป็นผู้นำไว้ว่า

          “ผู้นำที่มีการปรับตัวที่ดี จะได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากผู้อื่น ซึ่งทำได้ด้วยการทำตัวให้ เป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา ความสนใจของพวกเขา จะได้รับการใส่ใจเพิ่มมากขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะว่ามัน ได้กลายเป็นหนึ่งในความสนใจของผู้นำด้วย”

          ยิ่งสูงยิ่งหนาว คือคำเปรียบเปรยไว้กับหน้าที่ผู้นำ และภาระทางตำแหน่งหน้างานที่สูงขึ้น เพราะการ ได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ พ่วงท้ายมาด้วยความรับผิดชอบใหญ่โตนั้น ผู้นำจำเป็นต้องมีทักษะบริหารงานหลายด้าน ให้พร้อมกับแรงกดดัน ที่เข้ามากระทบแบบไม่ทันตั้งตัว ที่สำคัญไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้งสร้างแรงกดดันให้ทีม

          ลูกน้องพร้อมใจทำงาน ลูกน้องพร้อมใจลาออก หัวหน้ามีส่วนในการตัดสินใจมิใช่น้อย หลายสิบปีก่อน ผู้เขียนได้รับมอบหมายแบบสายฟ้าแลบ ให้ดำรงตำแหน่งสูงด้านบริหารบุคลากรและด้านการศึกษา “พี่เป็นใหญ่เป็นโตแล้ว อย่าบ้าอำนาจนะ” รุ่นน้องคนสนิทกล่าวด้วยน้ำเสียง ดูมีความหวัง



          ผู้เขียนทบทวนประโยคดังกล่าว มีด้วยหรือ? คำว่า “บ้าอำนาจ” ไว้ใช้กับระบบเผด็จการทางการเมืองการปกครองมิใช่หรือ ?

          การเอาใจหัวหน้ามาใส่ใจเรา นี่คือขั้นแรกของการเริ่มทำงานครั้งนั้น ..มาดูกันว่า หัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องไม่อยากร่วมงานด้วย และมีแนวแก้ไขอย่างไร

          หัวหน้าแบบไหนลูกน้องยี๊ !!!

     1. หัวหน้าเผด็จการ

          หัวหน้าประเภทนี้ชอบออกคำสั่ง ใช้ระบบการบริหารงานแบบ บนลงล่าง ลักษณะนิสัยตรงเวลา เด็ดขาด มีการตัดสินใจฉับไว การบริหารงานแบบออกคำสั่งนี้ (Command) เหมาะสำหรับดูแลทีมงานที่ทำงานสภาวะฉุกเฉิน เร่งรีบ อยู่ในสถานการณ์ขั้นวิกฤติ แต่หัวหน้างานหลายท่านใช้วิธีออกคำสั่ง ในกรณีทำงานปกติ ใช้การออกคำสั่งเป็นเรื่องเคยชินในชีวิตประจำวัน ลูกน้องถึงกับต้องเอ่ยปาก “หัวหน้าเอาแต่สั่ง” งดการใช้ภาษากาย (Body Language) เช่น ชี้นิ้ว ตะโกนดังด้วยเสียงระดับสูง

          วิธีแก้ไข การออกคำสั่งควรเลือกให้เหมาะกับสถานการณ์เร่งด่วน หากท่านใด มีอาการเหล่านี้แนะนำให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญในงาน ตามหลัก Black Box (อ้างถึงบทความที่ผู้เขียนกล่าวไว้ https://www.ophconsultant.com/blog/info-blog.php?blog_id=10&web=Black-Box) เมื่อใดก็ตามพบว่าอารมณ์ไม่คงที่ ไม่ควรสั่งงานทันที เพราะมีผลด้านลบต่อผู้รับคำสั่ง ควรพักสมอง ดื่มน้ำเย็น หรือกาแฟสักแก้ว และทำสมาธิสัก 3-5นาที

          2. หัวหน้าขาวีน

          หัวหน้าประเภทนี้จอมวีน จอมเหวี่ยง ลองสังเกตส่วนใหญ่หน้าไม่ค่อยรับแขก บางท่านเรียก “หน้าเหวี่ยง”หรือบางคนหน้าแบบ “หน้าเนื้อใจเสือ” มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นโวยวายไว้ก่อน รับฟังเหตุผลไม่ทันจบ มี อารมณ์รุนแรง ไม่คงที่

          วิธีแก้ไข หัวหน้าประเภทนี้ค่อนข้างมีอีโก้ในตัวค่อนข้างสูง ต้องอาศัยการใช้หลักจิตวิทยาจากผู้มีอำนาจดูแลบริหารในการเปิดใจพูดคุย ประนีประนอมเพื่อสะท้อนปัญหาที่เขาเป็น และผลกระทบที่มีต่อทีมงานสำหรับตัวหัวหน้างานนั้นมีวิธีแก้ไขคือ ฝึกสมาธิและให้คิดก่อนพูดเสมอ งดกายใช้ ภาษากาย (Body Language) เช่น ท้าวเอว ชี้นิ้ว โยนของ หัดสร้างรอยยิ้มมากกว่าฉีกแสยะยิ้ม

          สุนทรภู่ท่านกล่าวไว้ในนิราศภูเขาทอง เกี่ยวกับคำพูดว่า

          “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต

          แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”

           3. หัวหน้านักปาด

          หัวหน้าประเภทนี้ นำผลงานลูกน้อง เสนอเป็นงานตนเอง หน้าใหญ่ ชอบปรากฏตัวต่อกลุ่มฝูงชน ชอบเข้าหาผู้ใหญ่ ไม่ต้องการให้ลูกน้องเกิดข้อผิดพลาดในงาน ไม่ส่งเสริมความก้าวหน้าทีมงาน ใช้คำสั่งการแบบมอง เป้าหมายเป็นหลัก ไม่สนใจวิธีการดำเนินงาน สนใจที่ผลงานมากกว่าคนทำงาน เดินไปกลุ่มไหนสังเกต “วงแตก”

           วิธีแก้ไข หัวหน้าประเภทนี้ เรียกว่า “เสียหน้าไม่ได้” ให้ฝึกการสั่งงานเป็นระบบ ขั้นตอน มอบหมายงานด้วยลายลักษณ์อักษร ตามกรอบกำหนดเวลา อย่าคิดการทำงานคือชัยชนะ แต่คือความท้าทาย เปิดโอกาสให้ ลูกน้องได้แสดงความคิดเห็นในงาน มีการประชุมรายสัปดาห์ รายเดือน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเป็นทีม ฝึกพูดหรือออกคำสั่งแบบตรงประเด็น สั่งการแบบขอร้อง(Request)หรือการสั่งงานแบบขออาสาสมัคร (Volunteer)

           4. หัวหน้านักการเมือง

           หัวหน้าประเภทนี้เล่นพรรคพวก สร้างความอึดอัดใจให้ลูกน้องเป็นอย่างยิ่ง หรือบางทีหลายท่านคงคุ้นคำว่า “การเมืองในที่ทำงาน” หากพบว่าลูกน้องมีความสนิทสนมกับฝ่ายตรงข้ามเกิดอคติในการทำงานทันที ชอบลูกน้องประเภทเอาอกเอาใจเป็นพิเศษ มีความหวาดระแวงในการทำงานตลอดเวลา หาพรรคพวกจับกลุ่มพูดคุยในสิ่งที่ตนเองไม่พึงปรารถนา มักไม่มีคนจริงใจเป็นมิตรแท้

           วิธีแก้ไข หัวหน้าประเภทนี้ ผลการดำเนินงานค่อนข้างต่ำ งานมีคุณภาพน้อยเมื่อเทียบกับคุณภาพคุยงานผู้บังคับบัญชาควรมอบหมายโปรเจคสำคัญให้รับผิดชอบ กำหนดขอบเขตชัดเจน ทุกคนในทีมมีส่วนร่วมทำงาน การแก้ไขปัญหาภายในทีมงานโดยหัวหน้าไม่คลุกคลีกับลูกน้องเป็นการส่วนตัว หัวหน้าใช้การออกคำสั่งแบบสั่งการหรืออาสาสมัคร ควรมีกิจกรรมผ่อนคลายในทีมงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ เช่น รับประทานอาหาร ร่วมกัน จัดกิจกรรมวันเกิด

           5. หัวหน้าโฟโต้ฮันท์(Photos Hunt)

           หัวหน้าประเภทนี้จอมจับผิดคล้ายเกมส์จับผิดภาพ ลูกน้องเรียกว่า “ทำดีเสมอตัว ทำชั่วเหยียบจม ดิน” ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ตำหนิไว้ก่อน รับฟังเหตุผลบ้างแต่ไม่ใช้เป็นแรงจูงใจในการแก้ปัญหา ชอบเก็บสถิติด้านลบทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องส่วนตัว เรื่องงาน ไม่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นมากนัก

           วิธีแก้ไข หัวหน้าประเภทนี้ต้องงดการมองด้วยหางตา หากลูกน้องผิดจริงควรใช้การออกคำสั่งแบบสั่ง หรือใช้การสั่งการแบบ แนะนำ (Suggest) เพื่อหาทางเลือก เปิดโอกาสให้ลูกน้องพิจารณาแก้ไข ควรใช้หลักการ บริหารงานทั้งพระเดชและพระคุณร่วมกัน

           ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของหัวหน้าที่ลูกน้องไม่อยากร่วมงานด้วย มีอีกหลายประเภทที่คนทำงาน พบเจอในชีวิตประจำวัน ควรใช้ลักษณะการทำงานแบบกระจกสะท้อนบุคลิกการทำงาน (Image Mirror) มี วิธีการบำบัดตนเองโดยอาศัยการ สังเกตการเคลื่อนไหวตนเองผ่านกระจกเงา เรียก Mirror Therapy ที่นิยมใช้ในกลุ่มพัฒนาบุคลิกภาพ สะท้อนภาพความเป็นตัวตน

           โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลี Giacomo Rizzolatti & Laila Craighero มหาวิทยาลัยปาร์มา ประเทศอิตาลี ได้ศึกษาวิจัยเรื่องของเซลล์สมองกระจกเงา (The Mirror-Neuron System) ตีพิมพ์เผยแพร่ลงวารสารทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่องทฤษฏีเซลล์กระจกเงาของมนุษย์

           ค้นพบว่า สมองมนุษย์นั้นมีเซลล์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เซลล์สมองกระจกเงา (Mirror Neuron)” เป็นเซลล์ ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ เช่น การได้กลิ่น การมองเห็น การได้ยิน การตอบสนองความรู้สึกต่างๆ เป็นตัวกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัส โดยเฉพาะผ่านการกระทำของผู้อื่น หากต้องการที่จะอยู่รอดต้องเข้าใจการกระทำของคนอื่น หากปราศจากสิ่งนี้ ย่อม “ไม่มีสังคมมนุษย์”

          จากประสบการณ์ผู้เขียนทำงานที่ปรึกษา พบว่า แท้จริงแล้วลูกน้องหลายคนตัดสินใจลาออก ไม่ใช่แค่ ตัวเงินเดือน สวัสดิการ เป็นหลัก ส่วนใหญ่เกิดจาก “ผู้นำ” เมื่อหัวเสีย หางก็เสีย ตามระเบียบ

          ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะดำรงตำแหน่ง ในหน้าที่ใดก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่า

          “อยู่สูงจงมองต่ำ อยู่ต่ำจงมองสูง”

 บริหาร  บทความ  หัวหน้างาน  วิจัย  Tao Te Ching  ผู้นำ  หัวหน้า  ลูกน้อง  Body Language  Black Box  ลำดับงาน  นิราศภูเขาทอง  สุนทรภู่  ภาษากาย  อาสาสมัคร  Volunteer  กระจกสะท้อนบุคลิกการทำงาน  Image Mirror  Mirror Therapy  Giacomo Rizzolatti  Laila Craighero  The Mirror Neuron System  เซลล์สมองกระจกเงา  Mirror Neuron   


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดปฐมนิเทศใช้เกมและกิจกรรมอะไรดี

ทักษะ 10 ข้อบริษัทต้องง้อเรา

สมรรถนะ (Competency Model) มีอะไรบ้าง ?