คุณควรเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ?


          ในการทำงานทุกสถานการณ์ สิ่งที่เราท่านเห็นได้จากตัวผู้นำ คือ ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ที่บางครั้งเกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณมาแต่เกิด หรืออาศัยการบ่มเพาะจากสิ่งแวดล้อมภายในและสิ่งแวดล้อมภายนอก เป็นตัวกระตุ้นให้ “จุดประกายไฟ” แห่งผู้นำ ขึ้นมาได้
          หากเราสังเกตการดำรงชีวิตผู้นำอย่าง “สิงโตเจ้าป่า” ด้วยความที่สิงโตมีนิสัยสุขุมและสง่างาม โดยเฉพาะสิงโตตัวผู้ จะมีขนสร้อยคอยาวฟูฟ่อง ขนปลายหางเป็นพู่ มีน้ำหนักตัวประมาณ 250 กิโลกรัม (550 ปอนด์) ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า มักทำหน้าที่ล่าเหยื่อ มีน้ำหนักประมาณ 180 กิโลกรัม (400 ปอนด์) มีอายุยืนถึง 10-20 ปี พวกมันมีนิสัยชอบอยู่รวมกัน             นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สิงโตซึ่งอยู่ในป่า ยังเป็นสัตว์สังคม มีการพึ่งพิงและพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งกันและกัน โดยลักษณะผู้นำกลุ่มนั้นมีความพิเศษที่แตกต่างจากกลุ่ม สามารถปกป้องและดูแลความปลอดภัยในกลุ่มได้
          หากเราย้อนกลับมาดูเรื่องของ “ผู้นำ” ในสังคมมนุษย์ ที่มีความแตกต่างตามวิถีการดำเนินชีวิต สังคม สภาพเศรษฐกิจ มีการอยู่รวมในสังคมหลากวรรณะ หลายเชื้อชาติ บางคนไม่ต้องสง่างาม ตัวใหญ่แต่แลดูน่าเกรงขามในหน้าที่ผู้นำเยี่ยงสิงห์ นั่นเพราะอะไร?
          วันนี้เรามาทราบคุณสมบัติ ผู้นำที่ดี ที่หลายคนอาจมีอยู่แล้วในตัวและหลายคนอาจมีเหลือน้อยในใจก็เป็นได้ ผู้นำที่ดีนั้น ควรมีคุณสมบัติอย่างไร

คุณควรเป็นผู้นำหรือผู้ตาม ?


คุณสมบัติผู้นำของทีมหรือองค์กร
          ๐ มีความกระตือรือร้น แน่นอนหากใครเป็นผู้นำแล้วทำงานอย่าง เช้าชามเย็นชาม หรือเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ทีมงานนั้นย่อมมีประสิทธิภาพการทำงานต่ำ เนื่องจากผู้นำขาดความกระตือรือร้น เพื่อความสำเร็จ
          ๐ มีความอดทน ผู้นำที่ดีต้องมีความอดทนเกินลูกน้องเป็นสิบเท่าตัว หากพบปัญหาในงานหรือสถานการณ์ที่กดดัน ผู้เป็นผู้นำที่ดีนั้น จะสุขุม ไม่ใช้ปาก “เป็นกรรไกรตัดใคร” ในทันที ใช้สติ คิดพิจารณา ไตร่ตรองในการแก้ปัญหา ไม่เว้นแม้แต่ ความอดทนในเรื่องอารมณ์เสีย ต่อการกระทำซ้ำซาก ของลูกน้องจอมกวน ที่ต้องแก้ไข โดยหน้าที่ของผู้นำที่ดี
          ๐ มีความยุติธรรม เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ หากใครเป็นผู้นำ แล้วถูกลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา กล่าวถึง ไม่ได้รับความเสมอภาค ให้ผู้นำไตร่ตรอง ความคิดและการกระทำตนเอง รีบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตามกระบวนการสร้างแรงจูงใจ ทั้งทางบวกและทางลบ ตามเหมาะสมแต่ละเหตุการณ์ ไม่เอาใจ ไม่ตามใจแต่ถูกใจและถูกต้อง
          ๐ มีความถ่อมตัว ผู้นำที่ดีนั้น ไม่ใช่คนที่คนที่ใหญ่โตด้วยอำนาจ แต่สุขุม เรียบง่ายด้วยบารมีความคิด มีภาษิตกล่าวว่า 
                    “ถ้ามีคนหนึ่ง บอกว่าคุณเป็นม้า
                     ยิ้มให้เขา…
                     ถ้ามีสองคนบอกว่าคุณเป็นม้า
                     หยุดคิดสักนิด….
                    ถ้ามีสามคนบอกว่าคุณเป็นม้า
                    ออกไปซื้ออานม้า มาได้แล้ว ”
          ๐ ผู้นำจึงมีความถ่อมตัวและสง่างาม โดยไม่ต้องแสดงตัวให้มากเกิน แต่เฉียบคมด้วยความคิด
          ๐ มีความมั่นใจ แน่นอน ผู้นำที่มีลักษณะเช่น “หัวเต่า” หดและยืดอยู่ภายในกระดอง คงไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย เพราะนั่นหมายถึง การยอมรับความพ่ายแพ้ต่อความสำเร็จ ทุกประเด็น แล้วลูกน้องจะพึ่งพาใครได้ล่ะ ถ้าหัวหน้าขาดความเชื่อมั่น ดังนั้น เมื่อก้าวขึ้นสู่ ความเป็นผู้นำ จึงควรสั่งสมความมั่นใจในทุกสถานการณ์ หมั่นหาหลักสูตรฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพ ด้านความเป็นผู้นำ เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพตนเอง ที่สำคัญอย่ามั่นใจเกินร้อยมากไป เพราะอาจสร้างความไม่พอใจเป็นที่หมั่นไส้ แก่ผู้อื่นได้ง่าย
          ๐ มีความอบอุ่น ซึ่งไม่ได้แปลว่าแฟมิลี่แมนเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงผู้นำที่มีความเอาใจใส่ต่อผู้ใต้บังคับบัญชาและใส่ใจในหน้าที่การทำงานภายในทีม เช่น ลูกน้องไม่สบายมีกระเช้าเยี่ยมไข้ ตอนเช้ายิ้มแย้มทักทาย ถามสารทุกข์ สุขดิบของลูกน้อง สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เกิดเพียงครั้งเดียว แล้วเงียบไป แต่ควรฝึกให้เป็นกิจนิสัย โดยระบบอัตโนมัติของความคิด แน่นอน ผู้นำที่เย็นชาและก้มหน้าหน้าดำอยู่กับโต๊ะทำงาน ใครที่ไหนอยากร่วมงานด้วย
         ๐ มีคุณธรรม ประเด็นนี้เป็นคุณสมบัติสำคัญ ที่ผู้นำทุกคนต้องสร้างไว้และหมั่นถ่ายทอดคุณธรรมจริยธรรมที่ดี ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร
         ๐ ครั้งหนึ่ง มีผู้อาวุโสท่านหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า “หัวหน้างานของเขาเป็นคนขยันมาก มาทำงานแต่เช้า กลับค่ำหลังลูกน้องทุกคน แต่ลูกน้องหลายคนลาออก เนื่องจาก รับไม่ได้กับความไร้คุณธรรมของเขา หากลูกน้องคนไหนลาป่วยหรือพ่อแม่ป่วย เขามักแสดงอารมณ์เสีย โทรสอบถามข้อมูลทางโรงพยาบาลนั้น ทำให้ลูกน้องบางคนรู้ทันเขา บางโรงพยาบาลจะปกปิดข้อมูลให้ซึ่งหากผู้ป่วยร้องขอ และที่สำคัญเขาขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในงาน”
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ของผู้นำที่ทำงานแบบ “ผู้ตามไล่ล่า” มากกว่าผู้นำที่ดี
         ๐ ทั้งหมดทั้งมวล เรื่องคุณสมบัติผู้นำนั้น ไม่มีใครมีพร้อมทุกข้อมาแต่เกิด อาศัยประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวหล่อหลอม พร้อมจิตสำนึกที่ดี ในการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ผู้นำที่ดีต้องหมั่นทบทวน จุดอ่อนและจุดแข็งในตัว บันทึกหรือ Checklist ไว้ ทั้งแง่ของบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เปิดกว้างรับ ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)จากทุกคนในทีมงาน
          ๐ ผู้เขียนนั้น ขอแนะนำ ให้ใช้เวทีการรับฟัง Feedback จากทีมงานในสถานการณ์ เช่น ประชุมกลุ่มย่อยประจำเดือน หลังการประเมินผลปฎิบัติงานกลางปีปลายปี หลังเลิกงานเรียกพบซักถามปัญหาที่พบในงานหรือบุคคล เป็นต้น ไม่ต้องกลัวว่า นั่นหมายถึงความอ่อนแอหรือเสียหน้า แต่กลับเป็น ตัวช่วยที่ดี ในการมองเห็น “กระจกสะท้อนตนเอง” ที่ให้คำตอบว่า …..คุณควรเป็นผู้นำหรือผู้ตาม (ไล่หลัง) ดีค่ะ

ขอบคุณข้อมูล
https://.wikipedia.org 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดปฐมนิเทศใช้เกมและกิจกรรมอะไรดี

ทักษะ 10 ข้อบริษัทต้องง้อเรา

สมรรถนะ (Competency Model) มีอะไรบ้าง ?