กลวิธีสะกดลูกน้องแบบกากินน้ำ (คนเป็นใหญ่ต้องอ่าน)

          หลายคนคงได้ยินประโยคที่ว่า “เหมือนสวมหมวกสองใบ”

          การรับหน้าที่บทบาทเป็นผู้นำนั้น มิใช่แค่บริหารงานเป็น อย่างเดียว ต้องบริหารตนเองให้อยู่เหนือความคาดหมายของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย จึงจะได้ชื่อว่า หัวและหน้า ที่สมบูรณ์แบบ

         วันนี้ ผู้เขียนขอหยิบยก นิทานชาดก เรื่อง “กาดื่มน้ำทะเล” กล่าวถึงผู้นำที่สมควร

กลวิธีสะกดลูกน้องแบบกากินน้ำ (คนเป็นใหญ่ต้องอ่าน)

          ไม่น่าเชื่อหลักการบริหารงานในแบบนี้ มีตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาแล้ว

          พระพุทธเจ้ากล่าวถึงบทบาทผู้นำ ได้อย่างงดงาม  ความว่า

          ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระอุปนันทเถระ ผู้ไม่รู้จักพอแล้วเที่ยวสอนภิกษุอื่นให้รู้จักพอ จึงตรัสพระคาถาว่า

          "บุคคลควรตั้งตนไว้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วพึงสั่งสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตจะไม่พึงเศร้าหมอง" แล้วได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเทวดารักษาสมุทร สมัยนั้นมีกาน้ำตัวหนึ่งบินเที่ยวหากินอยู่ในมหาสมุทรนั้นมักร้องห้ามฝูงนกฝูงปลาว่า

    "ท่านทั้งหลาย  จงดื่มกินน้ำทะเลเพียงเล็กน้อยนะ  ช่วยกันประหยัดน้ำทะเลด้วย" เทวดาเห็นพฤติกรรมของมันแล้วจึงถามไปว่า

     "ใครนะ ช่างบินวนเวียนอยู่แถวนี้  เที่ยวร้องห้ามฝูงนกฝูงปลาอยู่  ท่านจะไปเดือดร้อนอะไรกับน้ำทะเลด้วยละ"  มันจึงตอบว่า

     "ข้าพเจ้าคือกาผู้ไม่รู้จักอิ่ม ปรารถนาจะดื่มน้ำทะเลผู้เดียว กลัวว่าน้ำทะเลจะหมดก่อน จึงต้องร้องห้ามอย่างนั้น" เทวดาได้ฟังเช่นนั้นจึงกล่าวเป็นคาถาว่า

      "ทะเลใหญ่นี้จะลดลงหรือเต็มอยู่ก็ตามที   ที่สุดของน้ำแห่งทะเลใหญ่นั้นที่บุคคลดื่มแล้ว ใคร ๆ ก็รู้ไม่ได้ทราบว่า สาครอันใคร ๆ ไม่อาจดื่มให้หมดสิ้นไปได้" ว่าแล้วก็แปลงร่างเป็นรูปที่น่ากลัวขับไล่กาน้ำนั้นให้หนีไป   …….

        สำหรับหัวหน้างาน ผู้จัดการ ผู้บริหารงาน ต้องหมั่นทบทวนกระบวนการคิด การบริหารงาน หมั่นประเมินตนเองแบบ 360 องศา อยู่เสมอ ปฏิบัติตัวเช่นน้ำครึ่งแก้ว อยู่ตลอดเวลา

        ปัจจุบันมีหลักสูตร พัฒนาศักยภาพมากมายหลายหลักสูตร เพื่อพัฒนาทักษะการบริหาร ทักษะการคิดทักษะการตัดสินใจ เพื่อบริหารทีมงานได้อย่างลงตัว มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับหลายหลักสูตรที่ใช้หลักธรรม คำสอน เข้ามาผสมผสาน ดึงจิตใต้สำนึกภายในตนเอง ออกมาแสดงศักยภาพ ให้เรามีอิสระทางความคิด อิสระทางการเงิน

        ไม่เว้นแม้แต่ให้เราค้นหาความผิดพลาดในอดีต นำกลับมาทบทวนแก้ไขใหม่

        บางหลักสูตร เมื่อถึงขั้นตอนหนึ่ง ผู้เข้าสัมมนา หัวหน้างาน ผู้จัดการ หลายคนร้องห่มร้องไห้ ฟูมฟาย (คล้ายอะไรสะกิดใจ อย่างแรง) ใครเข้าหลักสูตรนี้แล้ว ชีวิตดี งานรุ่ง  

        สุดแล้วแต่ผู้อ่านทุกท่านสะดวกตามความเหมาะสม อะไรที่ทำแล้วสบายใจ ชีวิตเปลี่ยนได้จริง ก็น่าสนใจ แต่ควรใช้สติพิจารณา ไตร่ตรอง และตามงบประมาณในกระเป๋าที่มีอยู่

        หนึ่งในทักษะการบริหารทีม ที่สำคัญ มีอยู่ในตัวไม่ต้องไปซื้อหา ราคาหมื่นแสน คือ ทักษะการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

         ทำอย่างไร ? ให้ลูกทีมร่วมแรงร่วมใจพัฒนาผลงาน ทำงานได้ตามเป้าหมาย มีความกระตือรือร้น ใช้ พระเดช พระคุณแต่พอดี ซึ่งทักษะนี้ มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน อยู่ที่ว่า คุณดึงสิ่งนี้มาใช้หรือเปล่า ?

        วันนี้ มาเรียนรู้หลักการ “กลวิธีสะกดลูกน้องให้อยู่หมัด” ในแบบไม่ต้องลงแรง ลงกายมาก  เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการบริหารงานสถานการณ์ต่างๆ เรียกความศรัทธาจากลูกน้อง ได้อย่างมหาศาล

7 กลวิธีการบริหารลูกน้องในทีม

กลวิธีสะกดลูกน้องแบบกากินน้ำ (คนเป็นใหญ่ต้องอ่าน)

         1. บริหารด้วยหลักหัวหน้าต้นแบบ : เป็นการบริหารเรียกความศรัทธา สร้างระบบงานที่ดี

             ผู้นำที่ดี ต้องทำตัวเป็น ต้นแบบ หรือ แบบแผน(pattern)  ไม่ว่าเริ่มงาน เวลาทำงาน การแก้ปัญหา เมื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด ลูกน้องสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการเริ่มทำงานหรือแก้ปัญหางานได้ นั่นคือสร้างให้  ลูกน้องเกิดความรู้สึกทึ่ง มองหัวหน้าคือไอดอลของเขา” เกิดความเกรงใจ มีการบอกต่อจากรุ่นสู่รุ่นในทางที่ดี หาใช่ !! เดินไปกลุ่มไหน กลุ่มนั้น แตกกระเจิง

             ตัวอย่าง  บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ทุกเช้า ผู้จัดการ A แผนกทรัพยากรบุคคล ทักทายเพื่อนร่วมงาน แต่งกายสุภาพใส่สูทอย่างภูมิฐาน  ก่อนเริ่มงาน 15 นาที มีการจัดเตรียมเอกสาร นัดหมายงาน   จัดโต๊ะแบบ 5 ส ไม่วางข้าวของเกินความจำเป็นเต็มโต๊ะให้ระรานตา เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่  รูปถ่ายครอบครัว 

             มีการตรวจเช็คข้อมูลตอบรับหน้าจอคอมทุกวัน ลำดับความสำคัญตามแผนงาน ประชุมส่วนงานระดมความคิดเห็นทุกเช้า (Briefing ) หากมีงานเร่งด่วนเข้ามา มีการบริหารจัดการก่อน-หลัง  รวมทั้งการบริหารอารมณ์ได้เป็นอย่างดี ใกล้เลิกงาน มีการตรวจเช็คงานประจำวัน เตรียมวางแผนงานในวันถัดไป

             ทุกเช้าเย็นของการทำงาน ลูกน้องทุกคนรู้หน้าที่ โดยอัตโนมัติ ทำงานเป็นระบบ มีปัญหาในงานปรึกษาหัวหน้า เพราะได้ตัวอย่างการบริหารงานจากหัวหน้า   เรียกการบริหารตนเองแบบนี้ว่า “คนต้นแบบ”

         2. บริหารด้วยกฎของความเฉื่อยไอแซก : ใช้กรณีกระตุ้นการสร้างผลงาน กระตุ้นทีมงาน

             คนทำงานขยันมักขยันต่อเนื่อง คนเกียจคร้านมักเกียจคร้านอย่างต่อเนื่องเช่นกัน    โดย เซอร์ ไอแซก นิวตัน กล่าวถึง กฎของความเฉื่อย (Inertia) ว่า  วัตถุที่หยุดนิ่งจะพยายามหยุดนิ่งอยู่กับที่ตราบที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำ ส่วนวัตถุที่เคลื่อนที่จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงด้วยความเร็วคงที่ตราบที่ไม่มีแรงภายนอกมากระทำเช่นกัน

             ตัวอย่าง ที่เห็นชัดเจนในชีวิตประจำวันคือ เมื่อสัญญาณไฟเขียวเปลี่ยนเป็นไฟแดง คนขับรถจะเหยียบเบรคทันที เพื่อหยุดรถ ตัวคนขับ ซึ่งเคยเคลื่อนที่ด้วยความเร็วพร้อมกับรถ จะถูกผลักมาข้างหน้าทันที  เช่นเดียวกัน มนุษย์ทุกคนมีความต้องการตามหลักมาสโลว์ ต้องการความเสมอต้น เสมอปลาย ต้องการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสันติสุข

             ดังนั้น ใช้กฎข้อนี้ในการบริหารลูกทีม มอบหมายงานตามขอบเขตความรับผิดชอบให้อย่างเท่าเทียม พร้อมกระตุ้นชมเชยสำหรับผู้ที่ทำงานดี เขาจะมีแรงใจทำงานได้อย่างต่อเนื่อง  ลูกทีมที่มีผลงานอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ เสนอแนะ แนะนำแนวทางหรือให้โอกาสแสดงความคิดเห็นปัญหาที่เขาเป็นอยู่ เขาจะมีแรงใจพัฒนางานต่อเนื่อง

         3. บริหารแบบกำหนดเส้นตาย : กรณีโครงการ ชิ้นงาน ยอดสินค้าบริการ ที่มีระยะเวลาจำกัด

             การกำหนดเส้นตาย (Deadline) ช่วยให้ผู้กระทำลงมือปฏิบัติในทันที สนับสนุนให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานอย่างระมัดระวัง วางแผนเพื่อให้ทันกำหนดเวลา  ดังนั้น กลวิธีนี้ใช้ได้ผลสำหรับงานทั่วไป งานเร่งด่วน หรือโครงการที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ชัดเจน  การกำหนดเส้นตายนั้น ใช้ได้ทั้งคำสั่งทั้งสองแบบคือ ทางวาจา(Verbal) และลายลักษณ์อักษร (Non Verbal) ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญของงาน หากต้องการหลักฐานคำสั่งชัดเจน เป็นทางการควรใช้การกำหนดเส้นตายตามแบบลายลักษณ์อักษร ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ฉับไว มากกว่าบันทึกลงแผ่นกระดาษ เช่น ส่งทางไลน์ ทางเมล ทางเฟสบุ๊ค เป็นต้น

            คุณลองสังเกตการโฆษณาสินค้า เดี๋ยวนี้ มีการแข่งขันกันสูงอย่างต่อเนื่อง   แถมผู้อุปโภคบริโภค สะดวกในการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น

            “เก็บเงินปลายทาง เมื่อได้รับสินค้า”

             “รับประกันความพึงพอใจ ไม่พึงพอใจสินค้ายินดีคืนเงิน”

      หนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาด ที่ผู้บริโภคมัก ติดกับดัก คือ ใช้หลักการแบบกำหนดเส้นตาย   จำกัดด้วยเวลา จำนวนผลิตภัณฑ์ ส่วนลด 

            “สินค้าหมด ”     

            “ชิ้นสุดท้าย”

            “พิเศษ หากคุณโทรมาภายใน 5 นาที   คุณจะได้รับ ซื้อ 1 แถมฟรีอีก 1”    

            “พิเศษเฉพาะ วันพุธ ซื้อ 1 แถม 1 ในเวลา 14.00-16.00”

กลวิธีสะกดลูกน้องแบบกากินน้ำ (คนเป็นใหญ่ต้องอ่าน)

           4. บริหารแบบจำกัดทางเลือก : ใช้กรณีบริหารทีมจำนวนมาก จำกัดระยะเวลา  หรือทีมที่ขาดความเชื่อมั่นในการทำงาน

           กลวิธีนี้ สิ่งแรกที่หัวหน้าทีมงานต้องทำคือ จำกัดทางเลือกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรเกิน 2-3 ทางเลือก หรือแทบไม่มีทางเลือกเลย ถูกจำกัดอิสระภาพในทางเลือก ต้องลงมือทำทันที

           มนุษย์เราหากมีทางเลือกมากขึ้น เวลามากขึ้น มักจะรอใกล้เวลาจึงลงมือทำหรือหมดเวลาไปกับการเลือก

           ดังนั้น เมื่อหัวหน้ามอบหมายงานให้ลูกทีม ควรมีการวางแผนถึงกระบวนการดำเนินงาน การส่งงานอย่างชัดเจน แน่นอน    ตัวอย่าง แผนก Marketing ของบริษัทผลิตยางรถยนต์ชื่อดัง  ผู้จัดการแผนกมอบหมายให้ลูกทีม 10 คน ลงสำรวจตลาดยางรถยนต์ในพื้นที่เขตภาคใต้  ให้สุ่มเก็บกลุ่มประชากรผู้ใช้รถยนต์ รถบรรทุกและจักรยานยนต์ จำนวน 1,100 คน ชาวไทย 1,000 คน ชาวต่างชาติ 100 คน ตามใบสำรวจที่หัวหน้าส่งเมลให้  ภายใน 5-7 วัน ต้องส่งรายงานผลทันทีทั้งตัวเปเปอร์และกราฟประมวลผล

           จะเห็นว่า จากตัวอย่างหัวหน้าจำกัด พื้นที่ลงสำรวจ ,จำนวนประชากร,วันส่งงาน 5-7วัน,ตัวงาน ทำให้ในทีมงานต้องมีการวางแผนงาน เตรียมการเดินทาง จัดแบ่งหน้าที่ เป็นอย่างดี เพื่อให้ส่งงานทันตามกำหนด

            5. บริหารแบบหลักการประมวลผลคอมพิวเตอร์ : ใช้กรณี งานที่ทำยาก เป้าหมายสูง รวมทั้งงานที่ไม่มีความสำคัญมากนักหรือกรณี ทีมงานขาดความเชื่อมั่น ท้อถอย

            กลวิธีนี้ คือ หลักการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ทำให้งานดูง่าย และดูยาก ในเวลาเดียวกัน ผู้อ่านคงสงสัยว่า แล้วการบริหารแนวนี้ดีอย่างไร คำถามคืออะไรที่มีขั้นตอนยุ่งยาก การทำงานมาก ข้อมูลเยอะ ใช้เวลามาก คนส่วนใหญ่ชอบหรือไม่ ?แน่นอน ในทางตรงกันข้ามหากมีขั้นตอนง่าย ใช้ระยะเวลาสั้น ผลงานออกมาดี คนชอบหรือไม่ ?  การบริหารงานแบบนี้ใช้ในสถานการณ์หรือขั้นตอนการทำงาน ที่มีความซับซ้อนหรืองานค่อนข้างวุ่นวาย

            หัวหน้างาน ใช้หลักการ “คิด วิเคราะห์ แยกแยะ”  ก่อนอธิบาย หรือมอบหมายงาน  อธิบายเรื่องยากให้ดูง่าย  ส่วนงานอะไรที่ง่ายต้องทำให้รวดเร็วเกินคาด  งานที่ไม่มีความสำคัญ หัวหน้าต้องมีวิธีการพูดให้ลูกน้องใช้เวลากับงานนั้นน้อย และจบงานนั้นอย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลาไปกับงานนั้นมาก

            บางครั้งหลักการนี้ อาจนำมาใช้กับการกระตุ้น จูงใจทีมงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            เช่น ทีมฝ่ายขายผลิตภัณฑ์และความงาม มองว่าแพคเกจดูแลผิวพรรณและกระชับเรือนร่าง  ราคาสูง  คู่แข่งมาก ขายยาก    ผู้จัดการ B ประมวลรายละเอียดแพคเกจแต่ละตัวออกมา มีจุดดี จุดด้อย โอกาสการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า นำเสนอช่องทางบริการ? หาข้อดี ข้อได้เปรียบอย่างไร ? และสุดท้าย ประมวลผลสรุปการขายให้ได้ ทำไมลูกค้าต้องเลือกเรา?

            ผู้จัดการ B นำเสนอวิธีการขายให้ง่ายและตรงใจลูกค้า เป็นแบบอย่างแก่ทีมงาน ให้เห็นว่า เรื่องยาก ง่ายนิดเดียว อยู่ที่กึ๋น

             ในทางตรงกันข้าม หากงานที่คิดว่าไม่มีความจำเป็น ไม่มีประโยชน์  ควรมีกลวิธีพรรณาถึงผลเสียที่ตามมามากมาย อย่างมีเหตุมีผล จากนั้นปิดประเด็น

กลวิธีสะกดลูกน้องแบบกากินน้ำ (คนเป็นใหญ่ต้องอ่าน)

         6. บริหารแบบมีความคาดหวัง : ใช้กรณี ผู้นำต้องการให้ผลของงานนั้นทำได้ 100% การบริหารแบบมีความคาดหวัง ใช้กรณี ทีมงานหรือลูกน้องที่ต้องการทำยอดสินค้า มีเป้าหมายระยะเวลาหรือโครงการ งานที่ดูยาก หากผู้นำสามารถหาแรงบันดาลใจ ประโยคที่คาดหวัง พูดด้วยสีหน้า ท่าทางจริงจัง สายตามุ่งมั่น ตั้งใจ แน่นอน ลูกทีมย่อมเกิดแรงผลักดันจากท่าทางที่ผู้นำแสดงออก ประโยคที่ผู้นำกล่าวคาดหวัง เขาเหล่านั้น สามารถทำงานออกมาได้ดี อย่างแทบไม่น่าเชื่อ

         ตัวอย่าง

         “พี่หวังว่า โครงการ  Promote พนักงาน เราต้องโปร่งใสและสรุปงานภายในเดือนนี้"

         “ผมหวังว่าโครงการพัฒนาคุณภาพบริการ จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์ได้”

          “ที่สอนงานไปวันนี้ พี่หวังว่า อีกไม่กี่วันเราจะเป็นน้องใหม่ ที่เก่งกว่าพี่เก่าๆ เสียอีก”

          7. บริหารด้วยหลักการ win win : ใช้กรณี ต้องการกระตุ้นให้งานสำเร็จในทันที รวดเร็ว คือหลักการบริหารทีมงานมีผลดีต่อทั้งผู้นำและลูกทีม ไม่ใช่สั่งงานเพื่อให้ได้งานเพียงอย่างเดียว แต่หากงานนั้นประสบความสำเร็จ ผู้นำได้ผลงานตามเป้าหมาย คนทำงานได้รับผลตอบแทนด้วยของรางวัล เกียรติบัตร หรือการเลี้ยงตอบแทน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ที่ผู้นำพึงเลือกใช้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของงานนั้นๆ

        ตัวอย่าง

        “พี่ขอบคุณพวกเราทุกคนในทีมที่ทุ่มเท งานสำเร็จ เย็นนี้ พี่อนุญาตให้กลับเร็วได้”

       “ถ้าเราทำยอดขายได้เกินสิบล้านบาท พี่จะเสนอผู้บริหารเรื่องขอเพิ่มค่าเดินทาง”

        “ถ้างานเสร็จเรียบร้อย  พรุ่งนี้พี่จะพาพวกเราไปเลี้ยงให้หายเหนื่อยกัน” 

         ผู้นำที่ดีนั้น นอกจากบริหารเป็น บริหารถูกทาง ต้องรู้จักวิธีสร้างแรงจูงใจทีมงานอย่างฉลาดด้วย

         จึงได้ชื่อว่า “บริหารดี” เพราะไม่ว่าอยู่ในสังคมใด คนถือว่าเป็นเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาองค์กร คนดูแลยาก มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพภายใน ภายนอกตลอดเวลา  ผู้นำจึงต้องพัฒนาศักยภาพการบริหารงาน ให้โดดเด่น เหนือชั้นและรู้ทันทุกฝีก้าว “ลูกน้อง”   

          การอบรม เสมือนเป็นตำราเล่มหนึ่ง ที่ผู้เขียนนำมาขัดเกลา บอกเล่าจากประสบการณ์ ชีวิตจริง ในการบริหารงานจริง เราต้องอิงตำรา สั่งสมความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และบริหารตามสถานการณ์ที่เหมาะสม   ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “ความศรัทธาในตน”  ที่พร้อมจะนำหรือจะตาม

         วิลเลียม เจมส์ กล่าวไว้ว่า “ศรัทธาเป็นหนึ่งในพลังที่ทำให้ชีวิตมนุษย์ ดำรงอยู่”

         ลองนำไปใช้ดูค่ะ ดี แย่อย่างไรอย่าลืมนำมาแบ่งปันกันบ้างนะคะ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

จัดปฐมนิเทศใช้เกมและกิจกรรมอะไรดี

ทักษะ 10 ข้อบริษัทต้องง้อเรา

สมรรถนะ (Competency Model) มีอะไรบ้าง ?